คณะสหเวชศาสตร์ เรียนอะไรบ้าง?

คณะสหเวชศาสตร์ ในแต่ละมหาวิทยาลัยอาจจะอยู่ในคณะ แพทย์ศาสตร์ หรือคณะเทคนิคการแพทย์ หรือคณะวิทยาศาสตร์ นั่นเป็นเพราะ สาขาวิชาเหล่านี้ ล้วนแตกแขนงมาจากสาขา แพทย์ศาสตร์ ตามความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่างๆทางการแพทย์ที่เพิ่มมากขึ้น วงการแพทย์จึงต้องการบุคคลากรผู้ร่วมงานกับทีมแพทย์และ บุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ ที่มีความสามารถเฉพาะทางมาช่วยเหลือ และผู้ที่จบคณะวิชาสหเวชศาสตร์ ไม่ใช่แพทย์ พยาบาล เภสัชกร หรือทันตแพทย์ แต่จะเป็นบุคลากรที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการแพทย์ ซึ่งมีอยู่หลายสาขาได้แก่

สาขากายภาพบำบัด  สามารถทำงานตรงกับสาขาที่เรียนจบมาได้เลย โดยจะเป็นนักกายภาพบำบัดตามโรงพยาบาล ทั้งของรัฐและเอกชน หรือจะเป็นนักกายภาพบำบัดตามสโมสรกีฬาต่าง ๆ ก็ได้เช่นกัน

สาขาเทคนิคการแพทย์ สามารถทำงานสอบบรรจุในโรงพยาบาลรัฐหรือเอกชนได้เลย ซึ่งจะทำงานที่เกี่ยวข้องกับการตรวจโรคจากสิ่งที่ส่งมาตรวจ (ปัสสาวะ อุจจาระ เลือด หรือของเหลวจากร่างกาย) นอกจากนี้ยังผันตัวไปเป็นนักวิจัยตามห้องแล็บ หรือเจ้าหน้าที่ขายอุปกรณ์ทางการแพทย์ได้ด้วย

สาขารังสีเทคนิค เมื่อเรียนจบก็จะเป็นนักรังสีเทคนิค นักรังสีการแพทย์ นักวิจัย หรืออาจารย์ในสาขาวิชารังสีเทคนิค ซึ่งในแต่ละปีมีผู้เรียนจบสาขานี้ไม่มากนัก แต่ความต้องการในตลาดแรงงานยังถือว่าสูงและต้องการบุคคลากรเป็นอย่างมาก

สาขาเทคโนโลยีหัวใจและทรวงอก เมื่อเรียนจบแล้วส่วนใหญ่จะทำงานในโรงพยาบาลแผนกศัลยกรรมหัวใจ และเนื่องจากผู้ที่เรียนสาขานี้มีน้อยมาก จึงทำให้ขาดบุคลากร บางคนได้รับการทาบทามให้ไปทำงานตั้งแต่เรียนยังไม่จบก็มี

สาขาโภชนาการและการกำหนดอาหาร  แน่นอนว่าเมื่อเรียนจบสาขานี้คุณสามารถเป็นนักโภชนาการในโรงพยาบาลรัฐหรือเอกชนได้ นอกเหนือจากนั้นคุณยังสามารถทำงานในตำแหน่งในบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้องอย่างพวกสโมสรกีฬา โรงงานอุสาหกรรม (กำหนดสัดส่วนและดูแลฉลากสินค้า) ประจำสายการบิน (เพื่อกำหนดเมนูอาหารที่มีประโยชน์และตรงกับความต้องการของผู้บริโภคและสายการบิน) หรืออาจจะรับราชการเป็นอาจารย์ หรือเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข ก็ได้เช่นกัน

สาขาวิทยาศาสตร์การกีฬาและวิทยาศาสตร์สุขภาพ   ผู้ที่เรียนจบในสาขานี้สามารถประกอบอาชีพได้หลากหลายมากไม่ว่าจะเป็นนักกีฬา ฝึกสอนนักกีฬา ผู้ฝึกสอนส่วนตัว นักจิตวิทยาการกีฬา นักเวชศาสตร์การกีฬา และในปัจจุบันวงการกีฬาบ้านเราค่อย ๆ พัฒนามากขึ้นฉะนั้นความต้องการในสาขานี้จึงมีมากขึ้นเรื่อย ๆ

สาขาทัศนมาตรศาสตร์ เมื่อเรียนจบสามารถสมัครงานในตำแหน่งนักทัศนมาตร (เป็นช่างแว่นที่วินิจฉัยโรคตาเบื้องต้นก่อนส่งไปยังจักษุแพทย์) ทำงานประจำโรงพยาบาล หรือร้านแว่น นอกจากนี้ยังสามารถทำงานในอุตสาหกรรมผลิตแว่นตา หรือคอนแทคเลนส์ได้ด้วย

ผู้ที่เรียนคณะสหเวชศาสตร์ ก็เป็นอีกหนึ่งคณะที่เกี่ยวกับวิชาชีพโดยตรง เน้นการเรียนการสอนทั้งภาคทฤษฏีและภาคปติบัติ แบบวิชาชีพส่วนใหญ่ ผู้ที่เรียนจบจากคณะนี้จะเข้าทำงานตามสาขาที่ตนเองเรียนมาได้เลยทันที หรืออาจจะผันตัวไปเป็นครูอาจารย์ในสาขาที่ตนเองเรียนมาก็ได้

Leave a Reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *